
The Heart of Banpu สมฤดี ชัยมงคล ซีอีโอหญิงแห่ง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่มาตั้งแต่ปีแรก และให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นที่หนึ่ง
บ้านปู คือธุรกิจพลังงานของไทยที่เริ่มต้นจากการทำสัมปทานครั้งแรกที่หมู่บ้านบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำมันแพงและขาดแคลนใน พ.ศ. 2527 จนต้องหาพลังงานทางเลือก
เป็นปีเดียวกับที่ คุณสมฤดี ชัยมงคล เริ่มทำงานที่นี่หลังเรียนจบสาขาบัญชี เติบโตมาพร้อมบ้านปูและเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นอนาคตธุรกิจพลังงานที่ต้องขยับขยายไปสู่พลังงานเพื่ออนาคตมากขึ้น จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจพลังงานจากต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงาน ไปสู่กลางน้ำคือการผลิตพลังงาน และปลายน้ำในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน บ้านปูจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของไทยที่สร้างสรรค์พลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ โดยดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ผ่านมา 39 ปี ปัจจุบัน เธอคือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอีโอคนที่ 2 ต่อจาก คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทฯ คุณสมฤดีเป็นผู้บริหารที่กำลังนำพาการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญขององค์กรไปสู่ ‘พลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดหาได้ด้วยราคาที่เหมาะสม มีความเสถียร และส่งมอบให้กับผู้ได้รับอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ‘ความยั่งยืน’ โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบด้วยหลักความยั่งยืน คือ ESG (Environment, Social, Governance) เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือครั้งไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากขาดกำลังสำคัญจาก ‘คน’ ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด
บ้านปูจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อพัฒนาบุคลากรให้เก่งและดียิ่งขึ้น ออกแบบสวัสดิการพิเศษที่นอกเหนือจากพื้นฐาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ สร้างวัฒนธรรมบ้านปู หรือ Banpu Heart เพื่อบริหารคนที่มีไม่น้อยกว่า 20 เชื้อชาติ ใน 10 ประเทศ ให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและเข้าใจกันมากที่สุด
ในวงการสื่อมวลชน คุณสมฤดีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนที่พลิกวิกฤตถ่านหินของบ้านปู
ในแวดวงธุรกิจ เธอเป็นซีอีโอหญิงของบริษัทพลังงานที่เติบโตอย่างยั่งยืนทุกปี ผู้สืบทอดวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของคุณชนินท์ได้อย่างดีเยี่ยม
ในองค์กร เธอคือผู้บริหารเก่งที่มีความจำดีเลิศ เธอเอาใจใส่แม้กระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ ของคนในทีม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ชอบ งานอดิเรก หรือจุดเด่นที่เขามี และเป็นผู้นำที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย

ตำแหน่งงานแรกของคุณที่บ้านปูคืออะไร
ปีที่เรียนจบเป็นปีที่บ้านปูก่อตั้งเป็นปีแรก เราเข้ามาเป็น Receptionist ช่วงนั้นบ้านปูยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ทุกคนต้องทำทุกอย่าง แต่ต่อมาก็ย้ายไปทำบัญชี เพราะเรียนจบบัญชี
บ้านปูเมื่อ 39 ปีที่แล้วเป็นยังไง
ต่างกันมหาศาลเลย ตอนนั้นมีพนักงานอยู่แค่ 20 กว่าคนเอง หลัก ๆ เป็นนักธรณีที่สำรวจแหล่งแร่ เป็นวิศวกรวางแผน ส่วนงานบริการสนับสนุนก็เป็นฝ่ายบัญชี การเงิน และบุคคล
วันนี้บริษัทฯ มีพนักงานทั้งหมดกี่คนแล้ว
ถ้ารวมทั้งกลุ่ม 10 บริษัทใน 10 ประเทศ จะมีประมาณ 5,700 คน ในประเทศไทยมีกว่า 400 คน อินโดนีเซียมากหน่อย 2,000 กว่าคน จีนก็ราว ๆ 1,000 คน ออสเตรเลียประมาณ 1,500 คน ที่เหลือกระจายอยู่ในญี่ปุ่น เวียดนาม มองโกเลีย และสหรัฐอเมริกา
ความท้าทายของการบริหารธุรกิจที่มีอยู่ถึง 10 ประเทศคืออะไร
ความแตกต่างของพนักงาน เราเคารพในความหลากหลาย (Diversity) และความเท่าเทียม (Equitability) ในเรื่องของการปฏิบัติกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ
ในแต่ละประเทศก็อาจจะมีพนักงานถึง 4 – 5 เชื้อชาติ ซึ่งมีพื้นฐานประเทศต่างกัน พื้นเพครอบครัวก็ต่างกัน แม้กระทั่งคนในประเทศเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย เราจึงต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงมาก ๆ ซึ่งเรามี Banpu Heart ที่หล่อหลอมพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มี Shared Value ร่วมกัน โดย Banpu Heart ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก 1) Passionate ใจรักในการทำงาน 2) Innovative ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ 3) Committed หรือความมุ่งมั่นยืนหยัดที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วง รวมไปถึงความแน่วแน่ต่อความถูกต้องโดยยึดหลัก ESG ซึ่งทั้งหมดได้หลอมรวมทุกความต่างของพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดความเป็นครอบครัวในองค์กร

ขณะที่หลายตำราและสื่อธุรกิจเห็นตรงข้าม ทำไมบ้านปูถึงยังเชื่อเรื่องการทำงานแบบครอบครัว
ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เราจึงต้องการความร่วมมือระหว่างกันสูง ถ้าคิดว่านี่คือครอบครัวเดียวกัน เราทำงานร่วมกันด้วยความสัมพันธ์แบบพี่น้อง เราจะเคารพซึ่งกันและกันไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเจเนอเรชันไหน จะ Baby Boomer, Gen X, Gen Y หรือดิจิทัล เราจะเคารพความคิดของกันและกัน พอเคารพกันแล้ว ก็ทำให้ร่วมมือกันสร้างแนวคิด นวัตกรรม หรือทางเลือกธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
ถ้าเป็นยุค 30 ปีที่แล้ว อาจเคยได้ยินปัญหาที่ไม่เข้าใจกันระหว่างแผนก เกิดฝ่ายใครฝ่ายมัน ขอบเขตของฉัน เธออย่ามาก้าวก่าย เป็นการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องมี One goal, One dream, One team ทำงานแบบ Agile เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน
งานหนึ่งชิ้นอาจประกอบไปด้วยผู้รับผิดชอบมากกว่า 1 ฝ่ายขึ้นไป เพื่อช่วยกันระดมความคิดของตัวแทนจากทุกหน่วยงาน อย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังมีแผนปรับปรุงออฟฟิศ เนื่องจากเรามีนโยบายให้ Work from Anywhere 100% จึงจะทำให้ออฟฟิศเป็น Co-working Space ซึ่งมีที่พักผ่อนหย่อนใจ มีระบบแอปพลิเคชันในการจองที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนในบริษัทฯ ก็ต้องมีส่วนร่วม
กลับมาเรื่องความเป็นครอบครัว พอเราบริหารทีมแบบนี้ การคิดว่าทุกคนเป็นครอบครัวก็ได้ประโยชน์มาก ถ้าเรามีพี่ชายพี่สาวที่รักกัน เราคุยกัน ทำทุกอย่างร่วมกัน เพื่อทุกคนในครอบครัว เพื่อทุกคนที่รู้จักครอบครัวเรา มันคือการเลียนแบบชีวิตจริงของแต่ละคนในที่ทำงาน
เราจะย้ำกับน้อง ๆ เสมอว่า ทุกเช้าที่ตื่นมา ขอให้คิดว่าการได้ทำงานกับเราเหมือนกับการได้อยู่ในอีกครอบครัวหนึ่ง ในทางกลับกัน ในฐานะบริษัท เราก็ต้องสร้าง Happy Workplace เพื่อสมาชิกในครอบครัวของเรา และมีพันธสัญญาที่จะดูแลพนักงานของเราอย่างดีที่สุด เราดูแลไปถึงครอบครัวของเขา
จึงเป็นเหตุผลที่พนักงานบ้านปูเลือกรับ Benefit ของตัวเองได้
เราเรียกว่า Flexible Benefit สมัยเริ่มทำงานเมื่อ 39 ปีก่อนมันก็เป็นระบบทั่วไป สวัสดิการก็มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ มีเงินเดือน มีโบนัสตามแต่กำไรในแต่ละปี ผ่านมาอีกยุคหนึ่ง ประเทศไทยเริ่มมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทต่าง ๆ ก็นำมาใช้ รวมถึงบ้านปูด้วย
มาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล ความต้องการพื้นฐานของทุกคนไม่เหมือนเดิมแล้ว กลุ่มคนที่มีครอบครัว มีลูก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำเพื่อลูก กลุ่มคนที่แต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก ก็อาจจะชอบชีวิตอิสระ กลุ่มคนโสดก็ตั้งใจจะดูแลตัวเองให้ดี ดังนั้น เราอยากให้สวัสดิการของบริษัทฯ ตอบโจทย์วิถีชีวิตของพนักงานจริง ๆ ถ้าคุณมีลูก ก็เลือกเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกได้ ถ้าคุณไม่มีลูก ก็อาจจะเลือกเบิกเป็นค่าน้ำมัน ค่าดูแลรถ หรือถ้าคุณชอบออกกำลังกาย ก็เอาสวัสดิการตรงนี้ไปใช้กับเมมเบอร์ฟิตเนส มีหลายรูปแบบจนเราเองก็จำไม่ได้ (หัวเราะ)
เกือบ 40 ปี ของเส้นทางการสร้างสรรค์พลังงาน จากการขับเคลื่อนองค์กรของพนักงานที่มีหัวใจและเป้าหมายหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยวัฒนธรรมองค์กร
ปัจจุบันบ้านปูดำเนินธุรกิจบนทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดขึ้นและฉลาดขึ้นด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยยึดมั่นหลักการของ ESG หรือ Environment, Social, Governance เพื่อสร้างคุณค่าและความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 10 ประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อโลกและสังคม รวมถึงส่งมอบ ‘พลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’
ลักษณะของ ‘ผู้ส่งมอบพลังงานที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต’ คืออะไร
คือผู้ที่ขับเคลื่อนอนาคตพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องไปกับ 3 เมกะเทรนด์พลังงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
1) Decarbonization คือ การหาพลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง ลดปัจจัยการเกิดภาวะโลกร้อน
2) Decentralization หรือ การกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน โดยผู้ผลิตเป็นผู้ใช้เอง เช่น โรงงาน โรงเรียน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งครัวเรือน ก็ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เองแล้วนำกลับมาใช้ทำธุรกิจหรือใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ เพราะห่วงโซ่การบริการสั้นลง
3) Digitalization ซึ่งเป็นกระแสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้องทำให้ห่วงโซ่การให้บริการสั้นที่สุด ประหยัดต้นทุนที่สุด จึงปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ลดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ จนลดต้นทุนได้อีกเช่นกัน
บ้านปูมีกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้ตอบรับเมกะเทรนด์นี้
เรามีแผนกลยุทธ์ชื่อ Greener & Smarter โดยตั้งใจให้ธุรกิจสะอาดขึ้นและฉลาดขึ้น
Greener เราเน้นลงทุนในธุรกิจที่สะอาดขึ้น สำหรับธุรกิจต้นน้ำ เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐฯ ธุรกิจกลางน้ำ เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน รวมถึงโรงไฟฟ้าก๊าซ ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซต้นน้ำ
ในส่วน Smarter เรานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อก้าวให้ทันเทรนด์พลังงานในอนาคต
นอกจากนี้เราใช้สูตร 3A คือ Acceleration หรือการปรับธุรกิจให้เร็วขึ้น ถัดมาคือ Augmentation การต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสุดท้ายที่สำคัญมากในยุคนี้ที่เข้ากับภาวะปัจจุบันที่เกิดวิกฤตพลังงาน และสงครามการเมืองในภูมิภาคยุโรป คือ Antifragile หรือความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที ความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยง และหาโอกาสจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น




อะไรคือสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
คน คืออันดับหนึ่ง
บ้านปูพัฒนาคนอย่างไรให้เท่าทันการปรับตัวตามโลกในทุกวัน
เราต้อง Transform คนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเราได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงจัดตั้ง Banpu Academy เพื่ออบรมให้ความรู้ เสริมทักษะให้คนของเราเป็นเจเนอเรชันดิจิทัล
เราถือว่าทรัพยากรบุคคลมีค่ามากที่สุด เราจึงได้มุ่งมั่นพัฒนาคน สร้างผู้นำ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน


รู้ไหมว่าสื่อต่าง ๆ ยกให้คุณเป็น ‘คนที่พลิกวิกฤตถ่านหินของบ้านปู’
เห็นบ้าง (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่พลิกวิกฤต คือ พนักงานทุกคนของบ้านปูต่างหาก
ความท้าทายของการเป็นผู้บริหารหญิงในอุตสาหกรรมพลังงานคืออะไร
เราโชคดีที่อยู่ในองค์กรที่มีความแตกต่างสูงมาก และทุกคนก็เคารพกันและกัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ประเด็นเรื่องเพศหรือการเป็นผู้หญิงจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในบ้านปู เรามีผู้บริหารหญิงหลายคน วิศวกรมีผู้ชายเยอะ แต่คนเก่ง ๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีมาก จุดนี้คือเอกลักษณ์ของที่นี่ที่ความแตกต่างไม่ใช่ข้อด้อย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนคนอื่น
สำหรับคุณ การเป็นผู้นำที่ดีคือพรสวรรค์หรือพรแสวง
ส่วนหนึ่งต้องมาจาก Inner ข้างในของตัวเอง เหมือนกระบวนการศึกษาที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็ก ต้องยอมรับว่ามันคือกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ ทำไมเราถึงต้องใส่เครื่องแบบไปเรียน ทำไมต้องไปเรียนให้ตรงเวลา ทำไมต้องมีการสอบ สำหรับเรา นั่นคือการฝึกวินัย และในกระบวนการเหล่านั้นมันก็จะมีโอกาสให้เราได้แสดงภาวะการเป็นผู้นำ เช่น มีการทำงานกลุ่ม
ดังนั้นเรื่องของภาวะผู้นำมันเกิดตั้งแต่กระบวนการศึกษาแล้ว บางคนอาจจะเป็น Talent ติดตัวที่ได้มาจากพื้นฐานครอบครัว ได้เห็นความเป็นผู้นำของผู้ปกครอง มี Role Model มาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับที่เรามีคุณชนินท์เป็นต้นแบบ พอเรามีแบบอย่าง Talent ก็จะตามมา เพราะเรามีแรงบันดาลใจ
นั่นคือ 30% ของการเป็นผู้นำ ส่วนอีก 70% คือหัวใจข้างในของเราว่าอยากเป็นผู้นำแบบไหน ผู้นำก็มีหลายสไตล์ ต้องปรับให้เข้ากับภาวะต่าง ๆ ผู้นำที่ดีมีแค่พรสวรรค์ไม่พอ ต้องมีหัวใจ และรู้จักเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันด้วย
ถ้าอย่างนั้น คุณจะเป็นผู้นำที่ดีในสถานการณ์โลกวันนี้อย่างไร
ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจพลังงาน ซึ่งอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนมาก เปลี่ยนแปลงตลอด การเป็นผู้นำพร้อมวิสัยทัศน์ที่คาดการณ์ไปข้างหน้าได้อย่างน้อย 2 – 3 ก้าวเป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะทำให้เราเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้
เรายังมี Tagline ประจำตัวคือ Here to Serve ที่พร้อมจะเป็นผู้ให้ เรานำแบบ Humble Leadership คือ 1) ถ่อมตัว 2) เห็นอกเห็นใจ 3) โอบอ้อมอารี เราต้องสร้างความใกล้ชิด และความเข้าใจระหว่างกัน ทำได้ง่าย ๆ อย่างการ Walk the Floor ที่ชวนผู้บริหารเดินทักทายพนักงานในวาระหรือโอกาสต่าง ๆ
ถ้ามีโอกาสก็แสดงให้เขารู้ว่าเราเห็นคุณค่าของเขา และขอบคุณในสิ่งที่เขาทำ
เป็นซีอีโอมาแล้ว 7 ปี ยังต้องฝึกซ้อมก่อนคุยกับน้อง ๆ อยู่ไหม
เบื้องหลังเราใช้เวลาเป็นคืน ๆ เพื่อคิดว่าจะสื่อสารกับทั้งองค์กรอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ทำอย่างไรให้น้องไม่เครียด ให้น้องเห็นภาพใหญ่ของบริษัท ให้น้องกลับบ้านไปแล้วอิ่มเอมด้วยความสุข
ในภาวะที่ดี น้องจะรู้สึกปลาบปลื้มไปกับองค์กร ส่วนในภาวะที่ไม่ดี เราก็ยังได้รับความเห็นอกเห็นใจจากน้อง ๆ
มีอยู่ปีหนึ่ง ธุรกิจขาดสภาพคล่องและเราต้องสื่อสารให้พนักงานทุกคนรับรู้ สิ่งที่เราได้รับ คือ ความเห็นใจ ‘พี่สมไม่ต้องกลัวนะ พวกเราจะอยู่ข้างพี่สม’ ‘พวกเราจะสู้ต่อไป’ เสียงเหล่านี้เป็นพลังสำคัญที่ทำให้เราอยากทำอะไรเพื่อน้อง ๆ เพื่อบ้านปู เพื่อครอบครัวของเราต่อไป แล้วก็เป็นที่มาของ Tagline ที่ว่า Here to Serve ของเรา
Questions answered by CEO, Banpu Public Company Limited
1. คนในบริษัทมองว่าคุณเป็นผู้บริหารที่
คุณสมฤดี : ให้น้องตอบแทนได้ไหม (หัวเราะ)
น้อง ๆ : พี่สมเป็นผู้บริหารที่เข้าถึงง่าย ทำงานเก่ง พี่สมรู้จักทุกคนจริง ๆ รู้จุดแข็งของคน มี Empathy สูงมาก และพร้อมที่จะส่งเสริมให้ทุกคนเติบโตในองค์กร ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วย เพราะทำงานด้วยแล้วสบายใจ
2. คำชมที่ภูมิใจที่สุดคือ
‘ทำไมพี่จำแม่นจังเลย’ เราจำชื่อทุกคนได้ จำรายละเอียดได้ จำได้ว่าเขาทำงานอะไร
3. เทคนิคการจำเก่งคือ
จำเป็นภาพ จำเป็นตัวเลข จำเสื้อที่เขาใส่ สมมติต้องจำชื่อคนคนหนึ่ง ก็อาจจะเชื่อมโยงกับสิ่งของหรือสถานที่ที่มีชื่อเรียกคล้าย ๆ กัน พอเราจำได้ อีกฝ่ายก็รู้สึกดีนะ เหมือนถ้าเราบังเอิญไปเจอใครแล้วเขาจำเราได้ เราก็รู้สึกดีนะ
4. เอกลักษณ์ของ Speech คุณคือ
ถ้าเรียกตามภาษาการตลาดคือ Touch Point เราจะมีลูกเล่นให้คนได้ลุ้น จนบางทีน้องชอบบอกว่า ‘พี่สมชอบแกง’ หลายครั้งเวลาเราพูด คนตื่นเต้นหัวใจจะวายกัน แต่สุดท้ายก็ยิ้มหน้าบานกลับไป
5. สิ่งที่ภูมิใจในตัวเองมากที่สุดในฐานะ CEO คนที่ 2 ของบ้านปูคือ
คือการได้เป็นซีอีโอของบ้านปูคนที่ 2 ต่อจากคุณชนินท์นี่แหละ
6. ผู้นำที่คนรักสำหรับคุณคือ
ผู้นำที่คนจะรักต้องให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในภาวะผู้นำเท่านั้น
