สมฤดี ชัยมงคล จากพนักงานต้อนรับสู่ CEO ที่พาบ้านปูพลิกวิกฤตถ่านหิน

สมฤดี ชัยมงคล จากพนักงานต้อนรับสู่ CEO ที่พาบ้านปูพลิกวิกฤตถ่านหิน

 เมื่อ 40 ปีก่อน สมฤดี ชัยมงคล เริ่มทำงานที่บริษัทบ้านปู ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับ 

ในเวลานั้นบ้านปูเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียง 60  คน

อีก 32 ปีต่อมา เธอกลายเป็น CEO ของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจใน 9 ประเทศ มีพนักงานไม่น้อยกว่า 20 เชื้อชาติจำนวนกว่า 6 พันคน

หมดยุครุ่งเรืองของถ่านหิน บ้านปูต้องฝ่าวิกฤตพลิกองค์กรมุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ในปีที่ผ่านมาเธอยังสามารถทำสถิติผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยรายได้รวม 272,270 ล้านบาท

พลิกไปอ่าน เรื่องราวของสมฤดี ชัยมงคล จากพนักงานต้อนรับสู่ CEO ที่พาบ้านปูฝ่าวิกฤตถ่านหินสู่บริษัทพลังงานสะอาด อย่างท้าทาย

“ถ้าย้อนเวลากลับไปจะพบว่าพี่เป็นเด็กดื้อคนหนึ่ง”

“คุณสม” สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ของทุกคนในองค์กร เล่าถึงอดีตด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ

เธอเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ที่บอกว่าเป็นเด็กดื้อไม่ได้หมายความว่าเรียนไม่เก่ง เป็นเด็กเรียนดี แต่เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วใครห้ามก็ไม่ฟัง อย่างเช่นพอเรียนจบมหาวิทยาลัยแทนที่จะสมัครงานหางานทำเป็นเรื่องแรก กลับบอกที่บ้านว่าจะใช้เวลาไปเที่ยวก่อนประมาณ 6-7 เดือน

“ที่บ้านบอกว่าให้หางานก่อนก็ไม่ฟัง ดื้อ ชวนเพื่อน ๆ ไปโบกรถเที่ยวในเมืองไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ ได้ทำทุกอย่างที่เด็กวัย 20 ปีต้องการทำ สนุกมาก”

เที่ยวไปจนสุด แล้วมาหยุดลงตรงที่สมัครงานที่บริษัท บ้านปู  โดยมีคุณ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท และผู้ก่อตั้งบริษัทบ้านปู ที่กลายเป็นครูในการสอนงานทุกอย่างในเวลาต่อมาเป็นคนสัมภาษณ์

“จำได้เลยท่านถามว่าเรียนก็เก่ง ทำไมว่างงานอยู่ตั้ง 7-8 เดือน ก็บอกท่านไปตามตรงว่าอยากเที่ยวก่อน ท่านย้ำว่าถ้าได้งานเรื่องเที่ยวพอแล้วนะก็ตอบท่านไปว่าค่ะ”

หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2526 บ้านปูก็เรียกตัวให้มาร่วมงานเป็นพนักงานต้อนรับเพราะฝ่ายบัญชีตำแหน่งยังไม่ว่าง

 “พี่ก็ตอบรับทันทีเลย เพราะถึงจุดที่อยากทำงานแล้วด้วย อีกอย่างเป็น Reception ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เป็นงานที่ดี ได้เจอคนมากมาย”

คิดว่าที่บ้านปูต้องการเราอาจจะเป็นเพราะในช่วง 40 ปีก่อนเด็กจบใหม่ที่เก่งภาษาอังกฤษมีน้อยมาก และตอนนั้นบริษัทเริ่มทำงานกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศจะได้ให้มาช่วยดูแล

“แต่พี่เป็นพนักงานต้อนรับที่แย่มาก หน้าจะไม่ค่อยรับแขกเท่าไร รู้สึกว่ามีหน้าที่รับโทรศัพท์ ไม่ใช่ต่อโทรศัพท์ให้ใคร คือที่บ้านปูจะมีแต่นักธรณีกับวิศวกรที่ชอบมาใช้ให้ต่อโทรศัพท์ถึงคนโน้นคนนี้ เราก็คิดในใจว่าเก่ง ๆ กันทั้งนั้น ทำไมต่อโทรศัพท์เองไม่เป็น (หัวเราะ)  พวกเขาก็เลยบอกว่าพี่เป็น Reception ที่แย่มากเลย”

แต่ในช่วงเวลานั้นเธอก็ทำทุกอย่าง รับโทรศัพท์ รับแขก  เสิร์ฟกาแฟ ฯลฯ

อย่างที่บอกว่าเธอคงเป็นพนักงานต้อนรับที่ไม่น่ารักเท่าไร หลังจากที่ทำหน้าที่นี้ได้ประมาณ 2 เดือน คุณชนินท์เลยต้องหาตำแหน่งใหม่ให้โดยด่วน แทนที่จะให้เธอออก เป็นเพราะมองเห็นความสามารถด้านอื่น ๆ ของเธอ  จากการได้เข้าไปช่วยทำงานกับเลขาคุณชนินท์อยู่บ่อย ๆ

โอกาส “ฉายแสง” ครั้งแรก

จากพนักงานต้อนรับย้ายมาทำบัญชีในบริษัทเล็ก ๆ ของกลุ่มบ้านปูในยุคนั้น เช่น บริษัทแพร่ลิกไนต์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะบริษัทเล็กงานไม่มาก ทำให้มีเวลาวิเคราะห์งบการเงิน ตรงไหนควรปรับปรุงอะไรอย่างไร ทำหลายอย่างจนเป็นที่พอใจของหัวหน้าอย่างมาก

หลังจากนั้นเธอก็ได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องระบบบัญชี การทำบัญชี การวิเคราะห์งบการเงิน ให้กับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่ม ผู้ใหญ่เริ่มมองเห็นว่ามีความรู้รอบตัวเยอะ ภาษาก็ดี เริ่มให้โอกาสเธอเข้าไปรับผิดชอบเรื่องบัญชีในบริษัทที่ใหญ่ขึ้น

การได้เป็นคนวางระบบบัญชี เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญกับวิศวกรและนักธรณีทั้งหลาย เพราะต้องลงไปดูกระบวนการทำเหมืองตั้งแต่ต้นจนถึงเอาไปขาย เพื่อการบันทึกต้นทุนในแต่ละจุดให้ถูกต้อง

จากนั้นก็ไปเป็นนักตรวจสอบภายในซึ่งต้องเดินทางไปดูกิจการของบ้านปูทุกบริษัทเพื่อตรวจสอบสินทรัพย์ ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง

และได้เรียนรู้ภาพรวมทั้งหมด มองเห็นปัญหา โอกาส และความเสี่ยงต่าง ๆ มากมายขององค์กร  เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ได้ความรู้และประสบการณ์มากมาย

ชีวิตของสมฤดีเหมือนดวงดาว ที่หมุนไปเรื่อย ๆ

แต่จุดหนึ่งที่สำคัญคือได้รับโอกาสไปฝึกงานที่ BHP (บริษัทเหมืองแร่ระดับโลก) ประเทศออสเตรเลีย และได้เอาความรู้ใหม่ ๆ มาใช้กับบ้านปูในหลายเรื่อง

ในปี 2534 เมื่อบ้านปูเข้าประมูลรับเหมาผลิตถ่านหินให้กับ กฟผ. มูลค่า 3,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่มากครั้งแรกของบ้านปู  เธอคือผู้รับผิดชอบคนสำคัญในการ ทำ Project Finance เสนอสถาบันการเงิน

จนปี 2543  ได้รับโอกาสไปเรียนที่ Harvard Business School Program for Global Leadership เป็นเวลา 1 ปี  เป็นหลักสูตรยอดฮิตสำหรับผู้นำระดับโลก

สมฤดี คือนักเรียนรุ่นแรก และเป็นคนเอเชียเพียงคนเดียว

ในช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งไม่นานเธอเลยเป็นคนที่ให้ข้อมูลทางการเงินที่เกิดขึ้นในเอเชียกับอาจารย์ จนถูกมอบหมายให้เป็น Teacher Assistant

เธอบอกว่าเป็นเรื่องที่เธอภูมิใจมาก

“คือไม่นึกไม่ฝันว่าเด็กจบแค่ปริญญาตรี มาจากฉะเชิงเทรา เป็นมุสลิม เป็นลูกผู้หญิงคนเดียวของครอบครัว จะมาเป็น Teacher Assistant ของ Professor Harvard ดีใจจนนอนไม่หลับเลยค่ะ”

ในปี 2549 เธอก้าวสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO)

ในปี 2553 งานใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือประสบความสำเร็จในการเจรจาเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) Centennial Coal ที่ออสเตรเลีย มูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์

“ตอนไปออสเตรเลียครั้งนี้ไปกับคุณชนินท์แต่ท่านกลับก่อน พี่จึงได้ฝึกการเจรจาขั้นสูง ยากมากเลย มารู้ทีหลังว่าทำไมคุณชนินท์ถึงกลับประเทศไทยแล้วทิ้งพี่ไว้ที่ออสเตรเลีย เพราะเวลาเจรจากัน ข้อใดที่ให้เขาได้หรือไม่ได้ เราจะได้มีข้ออ้างว่าเราตัดสินใจไม่ได้  ต้องกลับไปปรึกษาคุณชนินท์ ทำให้มีช่วงเวลาที่ไม่ต้องตอบรับหรือปฏิเสธ”

ดีลใหญ่อีกดีล คือผลักดันการร่วมจัดตั้งโรงไฟฟ้าหงสาที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป. ลาว มูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2552

เธอจำได้ว่าจะปิดดีลนี้ในเดือนเมษายน 2552 แต่ในช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์การเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทำให้ที่ปรึกษาทางการเงิน ฝ่ายกฎหมาย ทนายความที่อยู่ต่างประเทศ ขอเลื่อนดีล ไม่ยอมเข้ามาเมืองไทยเพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย

ซึ่งถ้าเลื่อนมันจะกระทบกับแผนการก่อสร้างที่แพลนไว้แล้ว แต่เมื่อเขามาเมืองไทยไม่ได้  ดังนั้น เธอตัดสินใจเชิญสถาบันการเงินในเมืองไทยและทุกฝ่ายไปเซ็นสัญญาที่สิงคโปร์ โรงไฟฟ้าหงสาก็ได้เดินเครื่องต่อตามกำหนด

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ คือครู คือ Role Model

จากวันแรกที่เข้ามาทำงานในบ้านปู ผู้ที่มีบทบาทสำคัญสอนเธอในทุก ๆ เรื่องคือ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ

“คุณชนินท์สอนอะไรพี่ก็ทำตามทุกอย่าง เป็นครูที่สอนพี่ยาวนานที่สุดในชีวิต จะเล่าให้เด็ก ๆ ฟังเสมอว่า เรียนอนุบาล 3 ปี เรียนประถม สมัยนั้น 7 ปี เรียนมัธยม 6 ปี มหาวิทยาลัย 4 ปี รวมกันไม่เท่า 40 ปีที่คุณชนินท์กับผู้บริหารหลายท่านสอนพี่มา”

มีช่วงหนึ่งไปประชุมที่ประเทศออสเตรเลีย ตอนเย็นเธอเดินกลับโรงแรมพร้อมกับคุณชนินท์ ท่านก็พูดว่าอยากเห็นบ้านปูเป็นสถาบัน  วัฒนธรรมองค์กร จะทำให้บ้านปูเป็นสถาบันได้ และเมื่อเป็นสถาบันแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำสถาบันก็ยังคงอยู่

แล้วท่านก็ย้ำว่าคุณต้องไม่หยุดเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

“พี่ก็เลยยึดมั่นว่า Culture ต้องสำคัญที่สุด ตอนนั้นไม่ได้คิดมาก่อนว่าคุณชนินท์อยากจะ Step down และช่วง 2 ปีก่อนที่ท่านจะลาออก ยังสอนให้พี่ทำโน่นทำนี่ เรียกว่าเป็น Training Program แบบ on the job training จริง ๆ”  

วันที่ 25 เดือนธันวาคม 2557 เป็นวันคริสต์มาส มีการประชุมผู้บริหารภายในระดับสูง ชนินท์เริ่มเปิดประชุมโดยบอกว่าปีหน้าจะไม่ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว  และประโยคสุดท้ายที่เขาพูดในวันนั้นก่อนปิดการประชุมคือ

“ผมขอให้ทุกท่านแสดงความยินดีกับคุณสมฤดีด้วย”

หมดยุครุ่งเรืองของถ่านหิน ฝ่าวิกฤตมุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

คำถามยอดฮิตที่ถูกนักข่าวถามในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ คือการเข้ามาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ธุรกิจพลังงานอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนมาก ไม่กลัวหรือ

 “พี่ตอบไปว่าไม่แม้แต่นิดเดียวเลย แม้ว่าช่วงนั้นถ่านหินก็ตกในสถานการณ์ยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ พี่ไม่เคยรู้สึกว่ากลัวเลย ไม่เคยถอยเลยเพราะคุณชนินท์วางพื้นฐานไว้ดีมาก ๆ”

วิสัยทัศน์ที่สมฤดีได้แถลงต่อผู้ถือหุ้น คือ จะยึดถือทุกอย่างที่คุณชนินท์ได้สร้างมาเป็นพื้นฐานที่ดี และจะใช้ Core Value ของบ้านปูเป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งในปีนั้นเป็น Banpu Spirit มี 4 ข้อ

“พี่จะใช้ Integrity ดูแล Stakeholder ผู้ถือหุ้น ลูกจ้างด้วยความซื่อสัตย์อย่างที่คุณชนินท์อบรมมา จะใช้ Innovation ทำ Strategy ของบ้านปูไปข้างหน้า และ Synergy ทำงานกับทุกหน่วยงาน ทุก Stakeholder ทุก Partner และพี่จะใช้ Care ดูแลครอบครัวบ้านปู”

เมื่อคนที่แม่บอกว่า “พวกขวานผ่าซาก” ต้องทำงานให้ได้ใจคน

มีคนบอกสมฤดีว่าจุดแข็งของเธอเรื่องหนึ่งคือเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

“พี่บอกว่าไม่น่าใช่เพราะการเป็นลูกผู้หญิงคนเล็กในจำนวนพี่ ๆ ที่เป็นผู้ชายทั้งหมด ทำให้พี่เป็นคนห้าว ๆ  ตรงไปตรงมา แม่บอกพี่ว่าบางเรื่องที่ไม่ดีเก็บไว้ในใจบ้างก็ได้ อย่าทำตัวเป็นพวกขวานผ่าซากนัก (หัวเราะ)”

แต่หลังจากนั้นไม่นานเธอเริ่มตระหนักกับตัวเองว่าได้ให้เวลากับเรื่องคนจริง ๆ และเวลาเดินทางไปเยี่ยมหน่วยงานหรือบริษัทในเครือต่าง ๆเป้าหมายแรกไม่ใช่การคุยเรื่องตัวเลขกำไร ขาดทุน

“เพราะตรงนั้นพี่มีผู้ช่วยดูแลอยู่แล้ว แต่การที่เราได้สร้างความใกล้ชิด เอื้อมมือไปถึงเขา ไปจับมือเขา กอดเขาต่างหาก ที่แสดงให้เขารู้ว่าเราเห็นคุณค่าของเขา และขอบคุณในสิ่งที่เขาทำ”

เธอมั่นใจว่า ถ้าผู้นำสามารถเข้าถึงใจของผู้ร่วมงานจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรของเราแข็งแกร่งขึ้นได้จริง ๆ

ปัจจุบันบ้านปูขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วัฒนธรรมองค์กร “Banpu Heart” ที่ประกอบไปด้วย  3 เรื่องหลัก คือ ใจรัก (Passionate), สร้างสรรค์ (Innovative) และ มุ่งมั่นยืนหยัด (Committed) และเพื่อ “Banpu Heart” ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทฯ บ่งชี้ 10 พฤติกรรมหลัก และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่กระบวนการสรรหาพนักงานใหม่ ไปจนถึงกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยมี Banpu Heart Change Leaders (BCL) ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านทางกิจกรรมที่หลากหลาย

โดยรูปแบบการดำเนินกิจกรรมตลอดจนแบบสำรวจดังกล่าวจะได้รับการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนจะเข้าถึงวัฒนธรรมองค์กร “Banpu Heart” อย่างแท้จริง

“ไม่ว่าเราจะเป็นชนชาติไหน อยู่ประเทศไหน มีพื้นฐานของแต่ละประเทศต่างกันอย่างไร แต่เรามีหัวใจทำงานเดียวกัน ก็คือ Banpu Heart ที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมองค์กรนำมาซึ่งสถาบันบ้านปู ดังนั้น จะอยู่ประเทศไหนคุณก็คือบ้านปูซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ปัจจุบันบ้านปูมีพนักงานทั้งหมด 6 พันกว่าคน ในประเทศอินโดนีเซียมีประมาณ 3 พันกว่าคน ประเทศจีน 1 พันกว่าคน ประเทศออสเตรเลียมีประมาณ 1.6 พันคน

การวางยุทธศาสตร์สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ให้แข็งแรง ถูกบริหารจัดการไปพร้อม ๆ กับจัด Leadership Training Class อย่างเข้มข้น เพื่อเป็นการเตรียมคนให้พร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

หมดยุคถ่านหินรุ่งเรือง ได้เวลาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในปี 2526 ถึงปี 2555 เป็นยุคที่ถ่านหินรุ่งเรืองมาก แต่ในยุคของสมฤดี CEO คนที่ 2 ของบ้านปูนั้น เธอต้องพลิกองค์กรมุ่งไปสู่การทำธุรกิจให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบรับกับกระแสความท้าทายของโลกในด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในปี 2559 บ้านปูเริ่มดำเนินกลยุทธ์ Greener & Smarter แบบจริงจังทั้งองค์กร

Greener เป็นการขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ ในธุรกิจที่สะอาดขึ้นเช่น การลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นในปี 2557 ก็ได้ไปลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น

ส่วน Smarter คือนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และก้าวให้ทันเทรนด์พลังงานในอนาคต

ปี 2561 เปิดตัวพันธสัญญาใหม่ขององค์กร “Our Way in Energy พลังบ้านปู สู่พลังงานที่ยั่งยืน”

ส่วนปี 2563  ก่อตั้ง บ้านปู เน็กซ์ ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาด 100%

ปี 2564  ประกาศแผน 5 ปี Greener & Smarter ฉบับ 2 โดยเพิ่มกลยุทธ์ Faster เร่งความเร็วพอร์ตพลังงานสะอาด

สำหรับปี 2565  ผลประกอบการทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยรายได้รวม 7,693 ล้านดอลลาร์ (272,270 ล้านบาท)

และปี 2566  เดินหน้าผลักดันองค์กรให้เป็นมากกว่าบริษัทพลังงาน พร้อมร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนภายใต้ แนวคิด Better Living for All

เป็น Mega Disruption หรือความท้าทายใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานโลกที่สมฤดีต้องเจอมาตลอดเวลา 8 ปี

แต่เธอมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองและแนวทางการทำธุรกิจที่ไปตามเทรนด์ของโลก และเน้นในเรื่อง ESG ทำให้บ้านปูไม่มีทางเป็น Sunset Business แน่นอน

ปัจจุบันบ้านปูจบแผน Greener Smarter ฉบับที่ 1 ไปเมื่อปี 2020 ตอนนี้ปี 2023 กำลังอยู่ครึ่งทางของ Greener Smarter ฉบับที่ 2 ที่จะจบในปี 2025

ในฉบับที่ 2 นี้ จะใช้สูตร 3A ดังนี้

1. Acceleration เพราะเรารู้สึกว่าฉบับที่ 1 ยังไม่เร็วพอ ดังนั้น ในฉบับที่ 2 จึงเพิ่มความเร็ว Acceleration คือการ Speedup ขึ้นไปอีกในธุรกิจที่เราทำ

2. Augmentation การต่อยอด เช่น เรามีแก๊สที่อเมริกาจะต่อยอดด้วยโรงไฟฟ้าแก๊ส เรามี Energy Technology ก็ต่อยอดด้วยแบตเตอรี่  เพื่อให้ให้ครบวงจร

3. Antifragility ความสามารถในการรับมือและต้านทานความล้มเหลว ตัวนี้พี่ขโมยมาจากหนังสือ Antifragile เขาบอกว่าให้มองไว้เลยว่าโลกนี้จะไม่ปกติแล้ว Normal is a Fantasy และเขาก็บอกว่า New Normal ก็ไม่ใช่เพราะมันไม่มีคำว่า Normal อีกต่อไป

ดังนั้น คำที่พี่จะใช้ต่อไปนี้เป็นคำที่จะใช้เองในบ้านปู คนอื่นเรียก New Normal ของบ้านปูเรียก Never Normal ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้เรา Agile และยืดหยุ่นมาก ๆ

“Quote ในหนังสือของ Nassim Nicholas Taleb  ที่เป็นผู้เขียน Antifragile เขียนไว้ว่า be the fire and wish for the wind  คือทำตัวเองให้เป็นเปลวเพลิงแล้วคาดหวังจะมีลมมาโหมกระพือให้เปลวเพลิงนี้สว่างรุ่งโรจน์มากขึ้น

“พี่ชอบ Quote นี้มาก ๆ เพราะบ้านปูคือบริษัทพลังงาน โลโก้เราก็มีเปลวเพลิง ดังนั้น คำว่า be the fire มันจึงอยู่ในใจพี่ ว่าเราคือเปลวเพลิงอันนั้น เรา wish for the  wind  ดังนั้นเมื่อมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นเราต้องรับมือให้ได้ และเมื่อมีพายุมาเปลวเพลิงของบ้านปูจะกระจายออกไป เปล่งแสงสว่างออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่”

เธอทิ้งท้ายไว้ว่า

“ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ยากเกินไปสำหรับเราถ้าเรามี Passion มี Commitment และมี Innovation พี่เชื่อว่า 3 สิ่งนี้จะทำให้เราทำได้ทุกอย่าง”

บ้านปู จากบริษัทถ่านหินเล็ก ๆ ในหมู่บ้านบ้านปู อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทพลังงานระดับนานาชาติ ที่ทำธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศทั่วโลก

คือสิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อของ สมฤดี ชัยมงคล 

 

Somruedee Chaimongkol's mission to restore Banpu's strength remains a significant challenge for the leader of this major energy company.